บ้านเพดานสูง ส่วนมากมักจะเป็นบ้านที่มีขนาดใหญ่ เพดานที่สูงช่วยเพิ่มความโอ่อ่าให้ตัวบ้าน สะท้อนถึงระดับของผู้อยู่อาศัย ให้ความรู้สึกหรูหรา สง่างาม แต่ก็ยังมีอีกหลายโครงการ ที่แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็เลือกทำเพดานสูงในบางจุด ที่ไม่เพียงเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย แต่ยังช่วยสร้างความแปลกใหม่ในการอยู่อาศัยอีกด้วย
บ้านสมัยใหม่นิยมออกแบบบ้านให้ดูโปร่งสบาย และหลายท่านเข้าใจว่าความโปร่งสบายนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการทำฝ้าเพดานสูง บ้านสร้างใหม่ในยุคปัจจุบันจึงมีความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน 2.8 เมตรขึ้นไป และอาจเพิ่มเป็น 4-6 เมตร
แต่การทำบ้านให้โปร่งด้วยการทำฝ้าสูง เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำให้บ้านโปร่งได้ และการทำฝ้าสูงก็มิได้มีแต่ประโยชน์เสมอไป
บ้านเพดานสูง
การสร้างบ้านเพดานสูงดีอย่างไร ไปดูกันเลยยย!
1.ความสูงเพิ่มค่าใช้จ่ายผนังเพิ่ม
ฝ้าเพดานสูง ขึ้นแน่นอนว่าการทำผนังก็ต้องสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะฟังก์ชัน Double Space ที่ปกตินิยมใช้ผนังกระจก ซึ่งนั่นหมายถึงงบประมาณในการก่อสร้าง ค่าวัสดุก่อสร้างอิฐ ปูนก่อ ปูนฉาบ กระจก อลูมิเนียม สี และค่าแรงช่างย่อมสูงขึ้นตามไปโดยอัตโนมัติ หากกังวล ในจุดนี้ต้องลองเปรียบเทียบค่า ใช้จ่ายระหว่างการทำโถงสูงกับฝ้าเพดานที่มีความสูงระดับทั่วไป
ตัวอย่างเช่น พื้นที่ใช้สอยบ้านทั่วไปที่มีความสูงฝ้า 2.6-2.8 เมตร งบก่อสร้างต่อตารางเมตรประมาณ 15,000 บาท แต่สำหรับพื้นที่ใช้สอยที่เป็นฟังก์ชัน Double Space งบก่อสร้างต่อตารางเมตรประมาณ 20,000 บาทเลยครับ ถ้าพื้นที่ห้องนั่งเล่นมีขนาด 30 ตร.ม. บ้านทั่วไปใช้งบประมาณ 4.5 แสนบาท แต่บ้านฟังก์ชัน Double Space ต้องใช้งบประมาณ 6 แสนบาท
2.เมื่อฝ้าสูง ประตูหน้าต่างย่อมสูงตาม
การเลือกใช้ประตูหน้าต่างต้องมีความสัมพันธ์ สมดุลกับภาพรวมของบ้าน ในบ้านที่ผนังสูงทำให้บ้านดูกว้างขึ้น หากใช้ประตูหน้าต่างขนาดมาตรฐาน จะทำให้ดูไม่สมส่วนกัน บ้านที่ทำฝ้าเพดานสูงจึงจำเป็นต้องสร้างช่องเปิดขนาดใหญ่ ใส่ประตู หน้าต่างแบบที่สูง และกว้างกว่าปกติ ซึ่งขนาดความสูงลักษณะนี้จะไม่มีขายทั่วไป จำเป็นต้องสั่งทำขนาดพิเศษขึ้นมาใหม่ให้พอดีกับบ้านเท่านั้น แน่นอนว่าย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าขนาดมาตรฐานทั่วไป
ตัวอย่างเช่น ห้องทั่วไปฝ้าเพดานสูง 2.6 เมตร สามารถใช้ประตูที่มีจำหน่ายทั่วไปขนาด 2-2.2 เมตรได้อย่างเหมาะสม แต่หากห้องดังกล่าวใช้ฝ้าเพดานสูง 3-3.5 เมตร เมื่อใช้งานร่วมกับประตูความสูง 2 เมตร อาจทำให้ขาดสัดส่วนที่สมดุล จำเป็นต้องใช้ประตูบานสูง 2.4-2.5 เมตร ซึ่งจำเป็นต้องสั่งทำพิเศษ
3.ฝ้าเพดานสูง เปลืองพื้นที่เดินขึ้นลงเหนื่อยกว่าเดิม
สำหรับบ้าน 2 ชั้นขึ้นไป ต้องมีบันไดเป็นตัวกลางเชื่อมต่อ ในการสัญจรเดินขึ้น-ลง การออกแบบห้องให้เพดานสูงมากขึ้นเท่าไร ย่อมต้องมีจำนวนขั้นบันไดมากขึ้นหรือชันขึ้น และใช้พื้นที่สำหรับทำบันได บ้านมากขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น บ้านทั่วไปที่มีฝ้าเพดานสูง 2.6 เมตร ใช้ความสูงจากพื้นชั้นล่างสู่พื้นชั้นบนรวมประมาณ 3.2 เมตร หากบันไดมีความสูงของลูกตั้งขั้นละ 17.5 เซนติเมตร จะมีขั้นบันไดเพียง 19 ขั้น แต่หากความสูงฝ้าเพดาน 3.5 เมตรขึ้นไป ต้องใช้ความสูงจาก พื้นชั้นล่างสู่พื้นชั้นบนประมาณ 3.6 เมตร ซึ่งต้องมีบันได 24 ขั้นและต้องเพิ่มระยะบันไดตามแนวลูกนอน ทำให้สูญเสียพื้นที่ใช้สอยมาก ใช้งบก่อสร้างมาก ทั้งยังเดินขึ้นลงบันได เหนื่อยกว่าเดิม
4.ยิ่งฝ้าสูง ยิ่งเปลืองค่าไฟแอร์และค่าไฟแสงสว่าง
ลักษณะฝ้าเพดานสูงช่วยให้เกิดความปลอดโปร่ง เอื้อให้อากาศ ไหลเวียนในบ้านได้ดี ถ้ามีช่องเปิดรับกันพอดีจะช่วยคลายร้อนทำให้ บ้านเย็นตามธรรมชาติ แต่ในพื้นที่ที่มีสภาพ อากาศภายนอกเต็มไปด้วยมลพิษ ทำให้ต้องปิดบ้านจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ เมื่อพื้นที่ระหว่างพื้นถึงเพดานสูงมาก ๆ เครื่องปรับอากาศจะทำงานหนักขึ้น เพื่อกระจายความเย็นให้ทั่วถึง
5.ฝ้ายิ่งสูง ยิ่งดูเวิ้งว้าง
ระยะห่างจากพื้นถึงเพดานยิ่งมากยิ่งทำให้รู้สึกถึงความพิเศษ แต่ต้องมีสัดส่วนภาพรวมที่เหมาะสมร่วมด้วย เพราะบางบริบทกลับทำให้เกิดความเวิ้งว้างมากกว่าสบาย โดยเฉพาะในห้องนอนที่ต้องการความปลอดภัยและอบอุ่น หรือในห้องแคบ ๆ โถงทางเดินที่แคบ หากฝ้าเพดานสูง อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกบีบอัดแทนที่จะได้ความโปร่งสบาย เนื่องจากขนาด ความกว้าง และความสูงที่ไม่ได้สัดส่วน ห้องฝ้าสูงจึงเหมาะเฉพาะห้องนั่งเล่นหรือบางห้องเท่านั้น หากเป็นห้องนอน ห้องน้ำ ไม่จำเป็นเลยครับ
6.ซ่อมแซมและดูแลยาก
เพดานที่สูงจนเกินเอื้อมแม้มีบันไดก็ยังสูงไม่ถึง หากมีหลอดไฟเสียและต้องเปลี่ยนหลอดไฟ ทาสี หรือต้องการซ่อมแซมฟังก์ชันอื่น ๆ ที่ติดตั้งไว้บริเวณฝ้าเพดาน จะยากต่อการเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษา แทนที่จะสามารถทำได้เองง่าย ๆ อาจจะต้องจ้างช่างที่มีบันไดสูง ๆ หรือมีนั่งร้านมาช่วยงาน
ในส่วนของการทำความสะอาดก็เช่นเดียวกัน บนเพดานเป็นจุดเอื้อมถึงยากที่แมงมุมมักจะไปทำรัง แม้แต่เพดานบ้านสูงปกติยังต้องเจอปัญาหยากไย่ใยแมงมุม หากเพดานยิ่งสูงการดูแลยิ่งยากขึ้น ทำให้บ้านไม่สวยงามและมีสิ่งสกปรกสะสม ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลรักษาบ้านมากขึ้น
แบบบ้านไม้โมเดิร์น เพดานสูง
เพดานบ้านสูงเท่าไรจึงจะรู้สึกได้ถึงความปลอดโปร่ง ตามปกติแล้วบ้านทั่วไปในปัจจุบัน มักออกแบบให้มีความสูงตั้งแต่พื้นจนถึงฝ้าเพดานประมาณ 2.6 เมตร แต่สำหรับบ้านที่ต้องการความสูงโปร่งเป็นพิเศษจะทำการออกแบบให้มีความสูงมากกว่านั้น ซึ่งสัดส่วนความสูงของบ้านต้องอยู่ในรูปทรงที่สมมาตรกับส่วนอื่น ๆ ถึงจะทำให้บ้านดูสวย ไม่แปลกตา เพราะหากบ้านสูงโดยไม่สัมพันธ์กับความกว้าง สิ่งที่ตามมาคือ การขาดความสมดุลนั่นเอง
เจ้าของบ้านเป็นศิลปินมืออาชีพ ที่ตกหลุมรักบริบทของที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่แรกเห็น ก่อนหน้าก่อนที่จะสร้างบ้าน คู่สามี-ภรรยาได้ใช้เวลาหลายปีในการแคมป์ปิ้ง กางเต้นท์ เพื่อทำความรู้สึกกับธรรมชาติรอบ ๆ ให้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่พร้อมจึงตัดสินใจสร้างบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบายไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต
บ้านชั้นเดียว หลังคาลาดเอียงหลังนี้ ตั้งอยู่เงียบ ๆ บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลสาบฮูรอนหรือทะเลสาบฮิวรอน ในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างรัฐมิชิแกนของสหรัฐอเมริกากับรัฐออนแทริโอของแคนาดา ดีไซน์ภายนอกมีความชัดเจนและเฉียบคมในเรื่องเส้นสาย ดีไซน์งานหลังคาให้มีความสูงต่างระดับกัน นอกจากจะทำให้บ้านชั้นเดียวดูสะดุดตาเท่านั้น ยังช่วยในเรื่องแสงสว่างที่สอดส่องเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้านด้วย
แนวคิดในการออกแบบขับเคลื่อนด้วยธรรมชาติที่มีอยู่รอบ ๆ บริเวณเป็นส่วนสำคัญ สถาปนิกต้องการออกแบบให้ผู้อยู่อาศัยและพื้นที่ภายนอกใกล้ชิดกันในทุก ๆ มุมมอง ทุก ๆ มิติของการใช้ชีวิตประจำวัน ผนังภายนอกจึงเลือกใช้งานไม้สีน้ำตาลมากรุตามแนวตั้งและแนวนอน เพิ่มความสมดุลให้กับรูปทรงลาดเอียงของหลังคาไม่ดูแปลกตาจนเกินไป
หากมองจากผังแปลนจะเห็นได้ว่า ตัวอาคารชั้นเดียวเสมือนกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองใบมาวางติดกันแบบเหลื่อม ๆ ทำให้ฟังก์ชันภายในบ้านค่อนข้างมีความลื่นไหล ไม่ซับซ้อน และขณะเดียวกันก็มีความปลอดโปร่งโล่งกว้างเป็นพิเศษ
ภายในบ้านมี 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องครัวและห้องทานอาหาร ไม่ต่างจากบ้านทั่วไป แต่ด้วยการออกแบบให้มีเพดานที่สูง ผู้อยู่อาศัยจึงสัมผัสได้ถึงความเป็นอิสระของการใช้ชีวิต และรู้สึกได้ว่าบ้านมีพื้นที่ว่างมากมายสำหรับการพักผ่อนของสมาชิกที่มีอยู่เพียงแค่ 2 คน
แบบบ้านเพดานสูง สถาปนิกตั้งใจให้พื้นที่สาธารณะหรือห้องแฟมิลี่นั้นมีความโล่งกว้าง เพดานที่ยกสูงขึ้นกว่าส่วนอื่น ๆ กับการติดช่องหน้าต่างกระจกด้านบน รับแสงทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดเป็นเงาตกกระทบ ที่ช่วยสรรค์สร้างลวดลายบนผนังสีขาวไม่ให้จืดชืดจนเกินไปด้วย
ครัวสีขาว เชื่อมต่อกับมุมนั่งเล่น แต่ด้วยระดับฝ้าเพดานที่ต่ำลงกับการวางไอซ์แลนด์กั้นกลางระหว่างพื้นที่ จึงทำให้ทุกฟังก์ชันที่จัดไว้มีขอบเขตอย่างชัดเจน ชั้นวางหนังสือถูกบิลท์อินเอาไว้บนผนังด้านหนึ่งบริเวณทางเดินภายในบ้าน แบ่งช่องวางอย่างเท่า ๆ กัน วางได้จริงในทุกช่อง ตั้งแต่พื้นจนถึงฝ้าเพดาน อีกทั้งพื้นที่ทางเดินที่ออกแบบไว้ค่อนข้างกว้าง จึงสามารถนั่งอ่านหนังสือได้อย่างสบาย ๆ ไม่ถูกรบกวนจากภายนอก เป็นอีกมุมที่สร้างสมาธิให้กับเจ้าของบ้านได้อย่างยอดเยี่ยม
ห้องน้ำเพียง 1 ห้องของบ้าน ตกแต่งอย่างง่าย ๆ ทำการแบ่งโซนเปียกโซนแห้งเอาไว้ให้ดูแลทำความสะอาดได้ไม่ยาก ไม่เปลืองเวลา ไม่เปลืองแรงจนเกินไป ห้องนี้มีทั้งสีดำ สีขาวและสีน้ำตาลของไม้ เป็นการผสมผสานสีที่เรียบแต่มีเสน่ห์เอาไว้ได้อย่างสบายตา
นอกจากจะเป็นบ้านที่ต้องการอิงแอบกับธรรมชาติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านทำเพื่อความยั่งยืน คือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยติดตั้งไว้บนหลังคาที่หันหน้าไปยังทิศใต้ จึงได้รับแสงมาใช้งานอย่างเพียงพอ บ้านเดี่ยว
ผู้อ่านที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ต้องทำการตรวจสอบก่อนว่า ลักษณะของหลังคาบ้านตัวเองนั้นได้มีความลาดเอียง หันไปทางทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้หรือไม่ เพราะหากหันไปทางทิศทางที่แสงส่องไม่ถึง อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งยังต้องมีการเตรียมการเผื่อพื้นที่บนหลังคาสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ด้วย